Strategy and Innovation
ในปัจจุบัน การทำธุรกิจนั้นเพิ่มขึ้นจากยุคก่อน ๆ เป็นอย่างมากเนื่องจากมนุษย์เกิดมากขึ้น วิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความแตกต่างของช่วงอายุ และอีกหลากหลายปัจจัย สาเหตุเหล่านี้ทำให้ความต้องการของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องความต้องการพื้นฐานอย่างปัจจัย 4 ไปจนถึงความต้องการที่เฉพาะลงไปในเรื่องต่าง ๆ ทว่าธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่นั้นใช่ว่าจะสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งหมด เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้หมายความว่ามีความใหม่ ในบทความนี้จะพาไปดูวิธีการสร้างธุรกิจใหม่กัน
Strategy 1.0 - 4.0
วิธีการสร้างความต่างให้กับธุรกิจใหม่นั้นมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ การทำสินค้าหรือบริการเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิม สนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น อย่างที่สองคือ การคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ในกลยุทธ์ไปจนถึงการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่แปลกใหม่ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเสียก่อน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า กลยุทธ์ (Strategy) สิ่งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ยุคเช่นกัน โดยในแต่ล่ะยุคจะให้ความสำคัญแตกต่างกันออกไปดังนี้
ยุค 1.0 ให้ความสำคัญกับการวางแผน การตั้งเป้า และ การกำหนดสิ่งที่จะทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
ยุค 2.0 เน้นในเรื่อง คุณภาพที่ดี มีประสิทธิภาพสูง และ ต้นทุนต่ำ ในการผลิตสินค้าและบริการ
ยุค 3.0 ส่งเสริมการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สร้างความแตกต่าง
ยุค 4.0 การพัฒนานวัตกรรมทั้งในเรื่อง Business model และ การ Disrupt อุตสาหกรรมแบบเดิม
กลยุทธ์ทั้ง 4 นี้สำหรับการสร้างธุรกิจใหม่แล้วจำเป็นที่จะต้องมีครบทุกยุค ไม่จำเป็นว่าต้องใช้แนวทางของยุค 4.0 เพียงอย่างเดียวเพื่อให้ทุกอย่างสนับสนุนส่งเสริมกัน
4 Theory of Innovation
กลยุทธ์ทั้ง 4 นั้นยังไม่เพียงพอที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ดังนั้นการที่จะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้จำเป็นต้องมีนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลยุทธ์ + นวัตกรรม = ธุรกิจใหม่ ทั้งนี้นวัตกรรมไม่ใช่เพียงสินค้าหรือบริการที่มีความทันสมัยแต่อย่างใด สิ่งนี้ยังรวมไปถึงวิธีคิดและวิธีการทำธุรกิจที่พัฒนาจากแบบเดิม ๆ หรือมีความแตกต่างออกไปอีกด้วย หลักคิดที่เป็นหัวใจหลักของการสร้างธุรกิจใหม่ก็คือ การสร้างอุปสงค์ขึ้นใหม่ (Demand Creation) เพื่อให้ธุรกิจสามารถดึงคนจำพวก Non customer group มาใช้สินค้าและบริการของตนได้ (Non customer group คือ กลุ่มคนที่ไม่ใช่ลูกค้าของอุตสาหกรรมธุรกิจนั้น ๆ เช่น การทำธุรกิจร้านกาแฟ คนที่ไม่บริโภคกาแฟหรือเข้าร้านกาแฟเลย คนเหล่านั้นเรียกว่า Non customer group) และวิธีคิดที่จะช่วยสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจใหม่ ๆ มี 4 ข้อดังนี้
- Jobs to be done แนวคิดของเรื่องนี้เกี่ยวกับจุดประสงค์สุดท้ายของการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตไป กล่าวคือเมื่อซื้อแล้วเอาไปใช้ทำอะไรกันแน่ อย่างการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค หลาย ๆ คนไม่ได้เลือกซื้อเพียงเพื่อการใช้งานเท่านั้นแต่ยังเป็นการซื้อประสบการณ์ ซื้อเพื่อเป็นการยกระดับสร้างคุณค่า ให้กับตนเองอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋า หน้าที่ของสินค้าที่เรียกว่ากระเป๋านี้คือมีไว้ใส่ของเพื่อความสะดวกในการพกพา ทว่าในความเป็นจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นอีก อย่างการใช้เป็นเครื่องประดับเสริมฐานะของตน เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์สำหรับทำงานต่าง ๆ ที่ถูกซื้อมาเพื่อเอาไปใช้ทำงานอย่างอื่นต่อให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการคิดธุรกิจใหม่ ๆ จำเป็นที่จะต้องมองจุดประสงค์ที่แท้ของลูกค้าให้ออกซะก่อน
- Key commonalities of non customer ข้อนี้จะเป็นแนวคิดในการดึงเอาคนที่ไม่ใช่ผู้บริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้น ๆ ดำเนินงานอยู่ มาเป็นผู้บริโภค ด้วยการหาปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง ร้านกาแฟ และ เบเกอรี่ กลุ่มคนที่ไม่เข้าร้านจำพวกนี้สาเหตุหลัก ๆ คือ ไม่ดื่มกาแฟ เป็นคนรักสุขภาพ และมีมุมมองกับสินค้าเหล่านี้ว่าเป็นของสิ้นเปลือง ฉะนั้นการที่จะดึงกลุ่ม non customer เหล่านี้มาได้นั้นต้องเพิ่มเติมบางอย่างให้กับธุรกิจ เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารคลีน หรือกระทั่งการปรับให้ร้านดูเป็นมิตรและมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่การนั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือ เป็นต้น ข้อนี้จะช่วยทำให้การลงทุนเป็นไปในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
- Search for pain point คำ ๆ นี้หลายคนคงจะเคยได้ยินกันบ่อยแล้ว วิธีคิดของเรื่องนี้ค่อนข้างตรงตัว โดยจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างตรงจุด เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์ สมัยก่อนเมื่อซื้อคอม ก็จะได้แต่ที่อุปกรณ์ที่เป็น Hardware ไม่มี Software อะไรลงมาด้วยเลย แต่ในปัจจุบันนั้นมีทั้ง OS และ โปรแกรมต่าง ๆ ที่จำเป็นกับคอมพิวเตอร์ติดมาด้วย ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปติดตั้งลงโปรแกรมด้วยตนเอง เป็นต้น
- Search for linkage between industries หลักคิดสำหรับข้อนี้เน้นไปที่การนำข้อดีต่าง ๆ มารวมกันเพื่อเกิดเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง การเรียนพิเศษ ระหว่างเรียนด้วยตัวเอง กับ การเรียนกับครูสอนพิเศษ ข้อดีของการเรียนเองคือ ประหยัดกว่า เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา มีความเป็นส่วนตัวในการเรียน กำหนดความเร็วในการเรียนได้ตามความเข้าใจของตน ข้อดีของการเรียนพิเศษคือ เนื้อหาตรงประเด็นที่ต้องใช้สอบ มีข้อมูลเชิงลึกที่หาเองไม่ได้ มีครูให้ถามในเรื่องที่ไม่เข้าใจ มีแบบทดสอบและแบบประเมินที่ดี จากที่กล่าวมาเมื่อนำข้อดีทั้งสองอย่างมารวมกันจึงเกิดเป็นธุรกิจสอนพิเศษแบบใหม่ สามารถเรียนออนไลน์ ผ่านวิดีโอได้ทุกที่ทุกเวลา มีความเป็นส่วนตัว กำหนดความเร็วในการศึกษาได้ เนื้อหาตรงประเด็น สามารถสอบถามผู้สอนได้และมีการประเมินผลที่ดี เป็นต้น
Conclusion
สรุปได้ว่า ธุรกิจใหม่เกิดจาก กลยุทธ์ + นวัตกรรม กลยุทธ์มีตั้งแต่ ยุค 1.0 – ยุค 4.0 คิดในทุกยุคและนำมาใช้ร่วมกัน นวัตกรรมมีแนวคิดสำคัญ ๆ อยู่ 4 อย่าง ที่จะพาไปสู่การสร้าง Business model ใหม่ ๆ ได้นั่นเอง
สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ SBC-BLOG และ Facebook page Subbrain ขอขอบคุณความรู้จาก Space by CBS Chula