" กำไร " ที่ควรได้ของธุรกิจ
“กำไร” คือ เรื่องสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องทำให้ได้ไม่งั้น “กำไร” จะกลายเป็น “กรรมเวร” แทน ซับเบรนจะไม่พูดถึงกำไรตามทฤษฎีที่สามารถหาอ่านได้ทั่ว ๆ ไปใน Internet แต่ซับเบรนจะพูดถึงหลักคิดแนวคิด คือ
กำไรหมายถึง?
กำไรหมายถึงส่วนที่เหลือจากต้นทุน ค่าใช้จ่าย ภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและอื่นๆ (ถ้ามี) ทั้งหมดของการทำธุรกิจ ทั้งจากการขายสินค้าหรือบริการ กำไร มีการแบ่งระดับไว้ เช่น กำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ และอื่น ๆ ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไปซับเบรนจะไม่พูดถึงในที่นี้
แต่มีกำไรตัวหนึ่งที่สำคัญ คือ “กำไรสะสม” ที่หลายคนหลายธุรกิจ (SME) ไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญ ได้กำไรมาเท่าไหร่ใช้หมดหรือไม่ก็แบ่งกันกับหุ้นส่วนธุรกิจจนหมดเกลี้ยง “กำไรสะสม” ธุรกิจต้องกันส่วนไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของกำไรที่บริษัททำมาหาได้จากกิจการของบริษัทและต้องสะสมให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนทุนของบริษัทหรือมากกว่า ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ใช่มั่วขึ้นมาเองมันเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ธุรกิจต้องทำ ซึ่งหากธุรกิจไม่จัดทำตามนี้ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย และนำไปสู่จุดเริ่มต้นของหายนะทางธุรกิจที่ไม่รู้จักสะสมกำไรไว้เป็นทุนสำรองยามที่ธุรกิจมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มในการดำเนินธุรกิจบริษัท
ธุรกิจจะทำกำไรได้จากอะไรบ้าง
ธุรกิจจะทำกำไรได้จากอะไรได้บ้าง นี่ก็สำคัญที่ธุรกิจต้องคิดและวางแผนกลยุทธ์ว่าจะทำกำไรจากการทำธุรกิจในส่วนไหนได้บ้าง แน่นอนว่าธุรกิจต้องการกำไรสูง ๆ แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะธุรกิจมีการแข่งขันแม้ไม่ใช่ไก่ก็ตามและยังมีตัวแปรสำคัญคือลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการของธุรกิจอีกด้วย ซึ่งธุรกิจจะทำกำไรได้จากเรื่องต่อไปนี้
- จากการขายสินค้าหรือบริการ อันนี้ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เช่น ต้นทุน+ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 80 บาท ขาย 100 บาทกำไร 20 บาท เป็นต้น
- จากประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจ อันนี้เริ่มยากและซับซ้อน เช่น
- ลดการสูญเสียของวัตถุดิบได้
- ลดค่าจ้างแรงงานได้ (ใช้คนได้เหมาะสมกับปริมาณงาน)
- ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของธุรกิจได้
- ใช้เครดิตทางการค้าจากซัพพลายเออร์ทำกำไรเพิ่ม ข้อนี้สำคัญมาก เช่น ได้เครดิต 30 วันแล้วสามารถขายสินค้าหรือบริการออกไปได้ภายใน 15 วัน แล้วยังเหลือเวลาอีก 15 วันที่จะได้ประโยชน์จากเครดิตธุรกิจจึงสามารถนำเงินสดส่วนนี้ไปทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาเครดิตที่ได้จากซัพพลายเออร์และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้วย
- ได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผล (ที่ธุรกิจได้ไปลงทุนไว้)
- ได้จากลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรต่างๆ ของธุรกิจ ที่ให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์
การปรับเปลี่ยนกำไรตามสถานการณ์ธุรกิจ
การปรับเปลี่ยนกำไรตามสถานการณ์ธุรกิจ ในการทำธุรกิจทุกธุรกิจล้วนต้องการทำกำไรได้ตามต้องการ เช่น 50% ทุกเดือนทุกปีแต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เช่นนั้น
เศรษฐกิจมันมีความไม่แน่นอน เช่น ดีขึ้น แย่ลง เท่าเดิม กำไรก็จะแปรผันไปตามสภาพเศรษฐกิจ หลักการคิดกำไรของธุรกิจจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เช่น ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังซื้อถดถอย หรือ ช่วงโควิดที่ระบบเศรษฐกิจ Shut Down แบบถูกดึงปลั๊กออกเลย ธุรกิจต้องหยุดชะงัก คนต้องหยุดงาน รายได้หายทันที 80-90% บางธุรกิจ 100% เลยและไม่รู้อนาคตด้วยว่าจะกลับมาได้เมื่อไหร่ เมื่ออยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ธุรกิจต้องปรับแนวคิดใหม่ คือ
- ปรับอัตรากำไรใหม่จากเลข 2 หลัก เป็น 1 หลัก หรือเท่ากับ 0
- สภาพคล่องสำคัญกว่ากำไร อย่าลืมว่ากระแสเงินสดคือลมหายใจของธุรกิจที่จะทำให้พยุงธุรกิจเดินต่อไปได้ ธุรกิจอาจไม่มีกำไรแต่มีเงินมาหมุนเวียนให้จับจ่ายใช้สอยได้ เงินเข้าเร็ว แต่ออกช้า รับมากกว่าจ่าย ขายมากกว่าซื้อ นี้คือการรักษาสภาพคล่องที่ดีที่สุดของธุรกิจ
- ยอมขาดทุนบางส่วนดีกว่าขาดทุนทั้งหมด เช่น เกิดภาวะสต็อกบวม หรือ Dead Stock คือสินค้าที่ขายไม่ออกแล้วเพราะมี Stock มากเกินไปหรือตกรุ่นล้าสมัยไปแล้ว เช่นนี้ธุรกิจต้องยอมขายขาดทุนดีกว่าปล่อยให้สินค้าเสื่อมสภาพและเสียหายจนทำให้ธุรกิจขาดทุนแบบย่อยยับ เช่น ตัดขายยกล็อต ให้เช่าไปก่อน แบ่งขายให้รายเล็กรายน้อยหลายๆ ราย จัด Event ขายเทกระจาด เป็นต้น
กำไรที่ควรได้ของธุรกิจ
กำไรที่ควรได้ของธุรกิจ ข้อนี้จะต้องมีการเปรียบเทียบตามตารางข้างบนนี้ และกำไรของธุรกิจจะคิดเอาเองแบบมั่ว ๆ ไม่ได้ โดยต้องมีการเปรียบเทียบดังนี้
- ในแต่ละอุตสาหกรรม/หมวดธุรกิจนั้นมีมาตรฐานกำไรขั้นต้นกี่ % (Benchmark)
- เทียบกับของคู่แข่งกับของเรา
- ดูส่วนต่างกำไรแล้ววิเคราะห์หาสาเหตุ
- ปรับสัดส่วนกำไรให้ได้ตาม Benchmark เป็นอย่างน้อย
**กำไรที่ดีต้องมาจาก “ยอดขายที่เพิ่มขึ้น” ไม่ใช่มาจากการขายที่ดิน โรงงาน เครื่องจักรของบริษัทหรือรถหรูของผู้บริหารออกไปแล้วบอกได้กำไรเยอะ
สูตรคิดอัตรากำไร
1. Gross Profit Margin
อัตรากำไรขั้นต้น (%) = (ขายสุทธิ – ต้นทุนขาย / ขายสุทธิ) x 100
Gross Profit Margin (%) = (Sales – COGS / Sales) x 100
2. Operating Profit Margin
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (%) = (กำไรจากการดำเนินงาน / ขายสุทธิ) x 100
Operating Profit Margin (%) = (Operating Profit / Sales) x 100
3. Net Profit Margin (สำคัญสุดถือเป็นส่วนของเจ้าของจริงๆ)
อัตรากำไรสุทธิ (%) = (กำไรสุทธิ / ขายสุทธิ) x 100
Net Profit Margin (%) = (Net Profit / Sales) x 100